วันอังคารที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ระบบเศรษฐกิจโลก


ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกคน ย่อมมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำมาหาเลี้ยงชีพในสังคม การผลิตสินค้าและบริการต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจก็ตาม สังคมทุกรูปแบบไม่ว่าจะมองในแง่ส่วนบุคคลแต่ละคนหรือในแง่เป็นหมู่คณะ ต่างก็มีความต้องการในสินค้าและบริการมากกว่ากำลังการผลิตเสมอ ยิ่งสังคมเจริญก้าวหน้ามากขึ้นก็จะก่อให้เกิดการขยายตัวของความต้องการชนิด ใหม่ หรือความต้องการชนิดใหม่ในรูปแบบเก่าอยู่ตลอดเวลา ความต้องการทางร่างกาย ทางจิตใจ ทางสติปัญญา และจินตนาการมีมากมายหลายรูปแบบ และโดยแท้จริงแล้ว ความต้องการต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดมักจะมีจุดอิ่มตัวได้ เช่น เมื่อหิวคนเราต้องการอาหารจำนวนเต็มจำนวนหนึ่ง แต่เมื่ออิ่มก็ไม่ต้องการอาหารอีกจนกว่าจะเกิดความหิวและต้องการอาหารขึ้นมา ใหม่ แต่ความต้องการทั้งหมดของคนเรานั้นไม่มีขอบเขตหรือไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อมนุษย์มีปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการ ดำรงชีวิตครบถ้วนแล้วก็เริ่มมีความต้องการที่พิเศษออกไป เช่น อยากรับประทานอาหารรสเลิศตามสถานที่หรู ๆ ชุดเดินเล่น ฯลฯ ความต้องการต่างๆ เหล่านี้ทำให้เกิดการแข่งขันกันเพื่อแบ่งทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดของ มนุษย์ จึงจำเป็นต้องมีวิธีการตัดสินว่าความต้องการชนิดใดมีความสำคัญกว่ากัน เพื่อจะได้จัดเข้าเป็นความต้องการที่ได้รับการบำบัดก่อนหลัง การจัดลำดับความสำคัญของความต้องการและการหาสรรพสิ่งต่างๆ มาบำบัดความต้องการนี้เองเป็นหน้าที่การดำเนินงานของระบบเศรษฐกิจ
ระบบเศรษฐกิจ (Economic System)
หมายถึงหน่วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจย่อยมากมายมารวม ตัวกันดำเนินการผลิตในสังคมโดยใช้หลักการแบ่งงานกันตามความถนัด มีการปฏิบัติภายใต้ระเบียบ กฎเกณฑ์ นโยบาย และแนวทางการปฏิบัติที่คล้ายคลึงกัน หน่วยเศรษฐกิจ คือ หน่วยงานที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจ จะทำหน้าที่เกี่ยวกับกิจกรรมที่สำคัญทางด้านเศรษฐกิจอันได้แก่การผลิต การบริโภค และการแจกจ่ายสินค้าและบริการ  หน่วยเศรษฐกิจเป็นหน่วยงานที่มีอยู่ในแต่ละระบบ เศรษฐกิจจะทำหน้าที่แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยครัวเรือนหรือผู้บริโภค หน่วยธุรกิจหรือผู้ผลิต และองค์การของรัฐบาล โดยจะทำหน้าที่ดังต่อไปนี้
  • หน่วยครัวเรือนหรือผู้บริโภค อาจจะเป็นบุคคลคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ ซึ่งจะเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ทรัพยากร สมาชิกของครัวเรือนอาจเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต เป็นแรงงานเป็นผู้ประกอบการของกิจกรรมหนึ่งกิจกรรมใดในระบบเศรษฐกิจก็ได้ ถ้าเป็นเจ้าของที่ดินก็จะได้รับผลตอบแทนเป็นค่าเช่า ถ้ารับจ้างทำงานก็จะได้ค่าจ้าง ถ้านำเงินให้กู้ยืมก็จะได้ดอกเบี้ย ถ้าเป็นผู้ประกอบการจะได้ผลตอบแทนในรูปของกำไรหรือขาดทุน แต่ทุกครัวเรือนจะต้องมีการบริโภคทั้งสิ้นและเป้าหมายหลักของผู้บริโภคเหล่า นี้ก็คือความพึงพอใจสูงสุดนั้นเอง
  • หน่วยธุรกิจหรือผู้ผลิต เป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ทำหน้าที่ในการนำเอาปัจจัยการผลิตดังกล่าวข้าง ต้นมาทำการผลิตสินค้าและบริการ และนำไปจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคหน่อยธุรกิจประกอบด้วยผู้ผลิตและผู้ขาย ซึ่งอาจจะเป็นบุคคลเดียวกันก็ได้ โดยมีจุดมุ่งหมาย คือ แสวงหากำไรสูงสุด
  • องค์การของรัฐบาล เป็นหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยราชการต่างๆ ที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินงานตามนโยบาย โดยจะทำหน้าที่ในระบบเศรษฐกิจแทนรัฐบาล และสร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งจะมีบทบาทมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความแตกต่างของระบบเศรษฐกิจ ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมรัฐบาลจะควบคุมหน่วยธุรกิจและครัวเรือนน้อยหรือ บางอย่างไม่ควบคุมเลย แต่ในระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ รัฐบาลจะควบคุมทั้งหน่วยธุรกิจและหน่วยครัวเรือนมากกว่าระบบเศรษฐกิจแบบอื่น
                ระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ย่อมมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับการที่รัฐบาลจัดระเบียบทางเศรษฐกิจ โดยกำหนดให้ผู้ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจจัดตั้งสถาบันทางเศรษฐกิจ (Economic Institution) และให้ผู้ใดเป็นเจ้าของทรัพย์สินความมั่งคั่ง ตลอดจนวางข้อบังคับและวิธีการควบคุมด้วย ดังนั้นการที่แต่ละสังคมมีขนบธรรมเนียมประเพณีและระบบการเมืองการปกครองที่ แตกต่างกันไป ทำให้วิธีการแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจว่าผลิตอะไร ผลิตอย่างไร และผลิตเพื่อใคร การตัดสินใจปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจว่าจะเลือกวิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับระบบ เศรษฐกิจของสังคมนั้นๆ ระบบเศรษฐกิจสามารถจำแนกออกเป็น 4 ระบบด้วยกัน คือ ระบบทุนนิยม สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ และแบบผสม โดยมีลักษณะสำคัญและข้อดี-ข้อเสียของระบบเศรษฐกิจแบบต่างๆ ดังต่อไปนี้
  คำว่า เศรษฐกิจ (economy) เป็นเรื่องของความพยายามในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (economic activities) ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับการผลิต (production) การบริโภค (consumption) หรือ การจำหน่ายจ่ายแจกสินค้าและบริการ (distribution) ทั้งนี้เพราะทุกสังคมในโลกต่างประสบกับปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจร่วมกัน นั่นคือความไม่สมดุลระหว่างทรัพยากรที่จะใช้ในการผลิตสินค้าและบริการซึ่งมีอยู่จำกัดกับความต้องการของมนุษย์ซึ่งมีอยู่ไม่จำกัด สังคมจึงต้องหาวิธีการที่จะนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ในทางที่ประหยัดที่สุดและสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มบุคคลต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สังคมหนึ่งๆย่อมประกอบด้วยหน่วยเศรษฐกิจต่างๆมากมายรวมตัวกันขึ้นเป็นสถาบันทางเศรษฐกิจ (economic institution) และเนื่องจากแต่ละสังคมมีการปกครอง จารีตประเพณี และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์และนโยบายที่เป็นแบบแผนให้สถาบันทางเศรษฐกิจถือเป็นแนวปฏิบัติในการดำเนินกิจกรรมเพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ระบบเศรษฐกิจ (economic system) หมายถึง กลุ่มบุคคลของสังคมที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มของสถาบันทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น สถาบันการผลิต สถาบันการเงินการธนาคาร สถาบันการค้า สถาบันการขนส่ง สถาบันการประกันภัย ฯลฯ ซึ่งยึดถือแนวปฏิบัติแนวทางเดียวกันในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันคืออำนวยความสะดวกในการที่จะแก้ไขปัญหาพื้นฐาน ทางเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถบำบัดความต้องการให้แก่บุคคลต่างๆที่อยู่ร่วมกันในสังคมนั้นให้ได้รับประโยชน์มากที่สุด เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ระบบเศรษฐกิจทำหน้าที่แก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ 3 ประการ คือ
-                   ตัดสินใจว่า จะผลิตสินค้าหรือบริการอะไรบ้าง และควรผลิตในจำนวนเท่าใด
-                   ตัดสินใจว่าในการผลิตสินค้าหรือบริการเหล่านั้นควรจะใช้วิธีการผลิตอย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด และมีต้นทุนต่อหน่วยต่ำสุด
-                   ตัดสินใจว่า จะจำหน่ายจ่ายแจกสินค้าหรือบริการที่ผลิตขึ้นมานั้นไปยังบุคคลกลุ่มต่างๆ ในสังคมอย่างไร จึงจะได้รับประโยชน์อย่างคุ้มค่าและเป็นธรรมมากที่สุด
ระบบเศรษฐกิจใดที่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างครบถ้วนย่อมเท่ากับว่าประเทศหรือสังคมนั้นจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนของประเทศที่มีอยู่ไม่จำกัดได้อย่างทั่วถึงช่วยให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดี ประเทศชาติย่อมพัฒนาไปสู่เป้าหมายที่วางไว้  ระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆในโลกจะมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรูปแบบการปกครอง ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ตลอดจนแนวคิดในการบริหารเศรษฐกิจของผู้บริหารในแต่ละประเทศ
 ระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆทั่วโลกสามารถแบ่งออกเป็น 4 ระบบใหญ่ๆดังนี้
1)   ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมหรือทุนนิยม (Laissez-Faire or Capitalism)
           ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมหรือทุนนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่ให้เสรีภาพแก่ภาคเอกชนในการเลือกดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน สามารถเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต เศรษฐทรัพย์ต่างๆที่ตนหามาได้ มีเสรีภาพในการประกอบธุรกิจ รวมทั้งการเลือกอุปโภคบริโภคสินค้า และบริการต่างๆ แต่ทว่าเสรีภาพดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย กล่าวคือการดำเนินการใดๆจะต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของบุคคลอื่น ใช้ระบบของการแข่งขันโดยมีราคาและระบบตลาดเป็นกลไกสำคัญในการจัดสรรทรัพยากร โดยรัฐบาลจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จะมีหน้าที่เพียงการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและการป้องกันประเทศ
2)   ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ (Communism)
           ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะตรงกันข้ามกับระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมหรือทุนนิยม ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์รัฐบาลเป็นเจ้าของทรัพยากรต่างๆ รวมทั้งปัจจัยการผลิตทุกชนิด เอกชนไม่มีกรรมสิทธิ์ ตลอดจนเสรีภาพที่จะเลือกใช้ ปัจจัยการผลิตได้ รัฐบาลเป็นผู้ประกอบการและทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรต่างๆ หน่วยธุรกิจและครัวเรือน จะผลิตและบริโภคตามคำสั่งของรัฐ กลไกราคาไม่มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจกระทำโดยรัฐบาล กล่าวคือรัฐบาลจะเป็นผู้ทำหน้าที่ตัดสินใจว่าทรัพยากรต่างๆที่มีอยู่ควรจะนำมาผลิตสินค้าและบริการอะไร ผลิตอย่างไร และผลิตเพื่อใคร การตัดสินใจ มักจะทำอยู่ในรูปของการวางแผนแบบบังคับจากส่วนกลาง (central planning) โดยคำนึงถึงสวัสดิการ ของสังคมส่วนรวมเป็นสำคัญโดยสรุประบบเศรษฐกิจแบบนี้จะมีลักษณะเด่นอยู่ที่การรวมอำนาจทุกอย่างไว้ที่ส่วนกลางรัฐบาลจะเป็นผู้วางแผนแต่เพียงผู้เดียวเอกชนมีหน้าที่เพียงแต่ทำตามคำสั่งของทางการ เท่านั้น
3)   ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (Socialism)
           ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะใกล้เคียงกับระบบเศรษฐกิจ แบบคอมมิวนิสต์ ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมรัฐจะเป็นผู้ครอบครองทรัพยากรการผลิตพื้นฐาน ไว้เกือบทั้งหมด และเป็นผู้วางแผนเศรษฐกิจ กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นฐาน กิจการหลักที่มี ความสำคัญต่อเศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศ เช่น ธุรกิจธนาคาร อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ป่าไม้ น้ำมัน กิจการสาธารณูปโภค และสาธารณูปการต่างๆ ฯลฯ รัฐจะเป็นผู้เข้ามาดำเนินการเอง อย่างไรก็ตาม รัฐยังให้เสรีภาพแก่ประชาชนบ้างพอสมควร เอกชนมีเสรีภาพและกรรมสิทธิ์ในการถือครองทรัพย์สิน เช่น สามารถทำธุรกิจค้าขายขนาดย่อมระหว่างท้องถิ่นใกล้เคียง สามารถถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินทำกิน เพื่อการยังชีพ โดยสรุป ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่อาศัยกลไกรัฐเป็นกลไกสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรของระบบเศรษฐกิจ แต่ทว่ากลไกราคาพอจะมีบทบาทอยู่บ้างในระบบเศรษฐกิจนี้
4)   ระบบเศรษฐกิจแบบผสม (Mixed Economy)
           ระบบเศรษฐกิจแบบผสมเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม กับระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม กล่าวคือ ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบผสมทั้งรัฐบาลและเอกชนต่างมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ปัจจัยการผลิตมีทั้งส่วนที่เป็นของรัฐบาลและเอกชน ในส่วนที่เป็นแบบทุนนิยม คือ เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินบางอย่าง มีเสรีภาพในการเลือกผลิตหรือบริโภค ใช้ระบบของการแข่งขัน กลไกราคาเข้ามาทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากร ส่วนที่เป็นแบบสังคมนิยม คือ รัฐบาลเข้ามาควบคุมหรือเข้ามาดำเนินกิจการที่มีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เช่น กิจการสาธารณูปโภค อุตสาหกรรมหลัก และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องมีการลงทุนมากเพราะหาเอกชนลงทุนได้ยาก เนื่องจากเป็นกิจการที่ต้อง เสี่ยงกับการขาดทุนหรือไม่คุ้มกับการลงทุน แต่กิจการเหล่านี้จำเป็นต้องมีเพราะเป็นปัจจัยพื้นฐานต่อการดำรงชีพ เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา การขนส่ง และคมนาคม เหตุที่รัฐบาลเข้ามาดำเนินการในกิจการดังกล่าวก็เพื่อขจัดปัญหาในเรื่องการผูกขาดหรือเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นถ้าปล่อยให้เอกชนทำการแข่งขัน
           โดยสรุปแล้วระบบเศรษฐกิจแบบผสมจึงเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการใช้ทั้งระบบกลไกราคา หรือระบบตลาดควบคู่ไปกับระบบกลไกรัฐในการจัดสรรทรัพยากร

อ้างอิง
  พัชรี สุวรรณศรี
       สุภัทณี เปี่ยมสุวรรณกิจ
      https://sites.google.com



เศรษฐศาสตร์

 ความหมายของวิชาเศรษฐศาสตร์

         ถ้าจะกล่าวถึงคำว่าวิชาเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันนี้คงจะไม่มีใครที่บอกว่าไม่เคยได้ยินคำว่าวิชาเศรษฐศาสตร์ แต่ถ้าจะถามกลับไปว่าแล้วเศรษฐศาสตร์นั้นมีประวัติความเป็นมาอย่างไร คำถามนี้ถ้าหากไม่ใช่ผู้ที่สนใจจริงๆ แล้วก็อาจจะตอบไม่ได้ ซึ่งวิชาเศรษฐศาสตร์เมื่อเปรียบเทียบกับ วิชา รัฐศาสตร์ หรือปรัชญา นั้นจัดได้ว่าเป็นวิชาที่ค่อนข้างใหม่ ซึ่งผู้ที่ถูกจัดให้เป็นบิดาของวิชานี้ก็คือ อดัม สมิธ (Adam Smith ค.ศ.1723-1790) โดยท่านผู้นี้ได้แต่ตำราทางด้านเศรษฐศาสร์ที่จัดได้ว่าเป็นตำราทางเศรษฐศาสตร์ฉบับแรกของโลก ตำรานี้มีชื่อว่า "An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations" ซึ่งมีเนื้อหาในบางตอนกล่าวถึงในเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจ ในเรื่องของมูลค่า (Value) ในทางเศรษฐทรัพย์ต่างๆ การค้าระหว่างประเทศ การคลังสาธารณะ รวมไปถึงการเก็บภาษีอากร 
                คำว่าเศรษฐศาสตร์นั้นเป็นคำมาจากภาษากรีก 2 คำคือ Oikos ซึ่งแปลว่าบ้าน หรือครอบครัว และคำว่า Nomos ซึ่งแปลว่ากฎระเบียบ ดังนั้นคำว่าเศรษฐศาสตร์ในความหมายแบบดั้งเดิมจึงแปลว่าการจัดระเบียบในบ้าน หรือครอบครัว แต่ในนิยามที่เรามักจะใช้กันอยู่ทั่วไปคือคำว่าเศรษฐศาสตร์ (Economics) มีความหมายว่า เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับทรัพยากรทั่วไปที่มนุษย์นำมาใช้ในการบริโภค (Consumption) โดยเป็นการนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่ทั่วไปมาใช้ในการบริโภค ซึ่งในปัจจุบันทรัพยากรที่มีอยู่นั้นนับวันจะลดลงเรื่อยๆ จึงทำให้มีการพัฒนาวิธีการจัดการ หรือจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดให้ได้มากที่สุด โดยสรุปแล้วนั้นก็ยังคงไม่มีผู้ใดที่สามารถให้ความหมายของคำว่าเศรษฐศาสตร์ได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งคำว่าเศรษฐศาสตร์ดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้นจะมีความหมายที่แตกต่างจากคำว่าเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐศาสตร์นั้นมีความหมายถึงการจัดสรรทรัพยากร แต่คำว่าเศรษฐกิจ(Economy)นั้นหมายถึงการจัดการครอบครัว หรือการดำรงชีพของประชาชนในชุมชน และสังคมนั้นๆ จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นคงจะมีคำถามที่ถามต่อมาอีกว่าที่จริงแล้วคำว่าเศรษฐศาสตร์นั้นมีความหมายที่แท้จริงว่าอย่างไร? ในที่นี้ทางผู้เขียนใคร่ขอยกตัวอย่างผู้ทรงคุณวุฒิที่ให้ความหมาย หรือนิยามของคำว่าเศรษฐศาสตร์มาช่วยในการอธิบายดังนี้ อัลเฟรด มาร์แชลล์ (Alfred Marshall) Principle Economic เป็นวิชาที่ศึกษาถึงพฤติกรรมของมนุษย์ในการดำเนินธุรกิจเพื่อการดำรงชีพ(Business of life) ให้ได้มาซึ่งวัตถุสิ่งของเพื่อยังชีพให้ได้รับความสมบูรณ์พูนสุข (Material Requisties of Well-being) รูดอลลิฟ ดับบลิว. เทรนตัน (Rudolliph W. Trenton) เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่กล่าวถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการตอบสนองความพึงพอใจสิ่งที่มนุษย์ต้องการ 
พอล เอ. แซมมวลสัน (Paul A. Samuelson) Economics การศึกษาวิธีการของมนุษย์ และสังคมว่าจะเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าต่างๆ และสามารถแจกจ่ายสินค้าที่ผลิตขึ้นมาแล้วส่งไปยังประชาชนทั่วๆ ไปในสังคมเพื่อบริโภคในปัจจุบัน และอนาคตได้อย่างไรโดยที่มนุษย์ และสังคมนั้นจะมีการใช้เงินหรือไม่ก็ตาม อุทิศ นาคสวัสดิ์ : หลัก และทฤษฎีเศรษฐ์ศาสตร์ทั่วไป เป็นการศึกษาถึงวิธีการที่ระบบเศรษฐกิจ ทำการผลิตสิ่งของ และบริการเพื่อบำบัดความต้องการของมนุษย์ และแจกจ่ายสิ่งของ และบริการเหล่านั้นไปยังบุคคลที่มีความต้องการ 
ประยูร เถลิงศรี : หลักเศรษฐศาสตร์ เป็นวิชาสังคมศึกษาที่เกี่ยวกับการศึกษาว่า มนุษย์จะเลือกตัดสินใจอย่างไร ในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ไม่เพียงพอเพื่อผลิตสิ่งของ และบริการพร้อมทั้งแบ่งปันสิ่งของ และบริการเหล่านั้นเพื่ออุปโภค และบริโภคระหว่างบุคคลต่างๆ ในสังคมทั้งปัจจุบัน และอนาคต 
ปัจจัย บุนนาค และสมคิด แก้วสนธิ : จุลเศรษฐศาสตร์ เป็นวิชาที่ศึกษาถึงการนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด มาซื้อขายแลกเปลี่ยน หรือนำมาประกอบกันผลิตเป็นสินค้าด้วยความประหยัด เพื่อจำแนกแจกจ่ายไปบำบัดความต้องการของมนุษย์ในสังคม ธรรมนูญ โสภารัตน์ : เป็นวิชาที่ศึกษาถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และหายาก ในการผิตสินค้า และบริการ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด และความอยู่ดีกินดีของประชาชาติ ในภาวะปัจจุบัน และอนาคต 
จากความหมายของคำว่าเศรษฐศาสตร์ที่กล่าวมาข้างต้นพอที่สรุปได้ว่าวิชาเศรษฐศาสตร์ คือวิธีการเลือกสรรเทคโนโลยีที่จะใช้ในการการผลิตสินค้าและบริการให้ได้ปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์ที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเศรษฐศาสตร์คือวิธีการที่จะนำทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการผลิตเป็นสินค้าและบริการ ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความพึงพอใจของผู้บริโภคที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดให้มากที่สุด 

        โดยมีปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (Basic Economic Problem) ที่เราจะต้องสามารถตอบได้ ดังนี้ 

                1. ผลิตอะไร (WHAT) 
                2. ผลิตอย่างไร (HOW) 
                3. ผลิตเพื่อใคร (FOR WHOM)

                เป็นวิชาทางสังคมศาสตร์ที่ศึกษาการผลิต การบริโภค การกระจายสินค้า การค้า และการบริโภคสินค้าและบริการ ตามคำจำกัดความของนักเศรษฐศาสตร์และนักการเมือง เรย์มอนด์ บารร์ แล้ว "เศรษฐศาสตร์คือศาสตร์แห่งการจัดการทรัพยากรอันมีจำกัด เศรษฐศาสตร์พิจารณาถึงรูปแบบที่พฤติกรรมมนุษย์ได้เลือกในการบริหารทรัพยากร เหล่านี้ อีกทั้งวิเคราะห์และอธิบายวิถีที่บุคคลหรือบริษัททำการจัดสรรทรัพยากรอัน จำกัดเพื่อตอบสนองความต้องการมากมายและไม่จำกัด"  คำว่า เศรษฐศาสตร์ มาจากคำภาษากรีก oikonomia ซึ่งแปลว่าการจัดการครัวเรือน (oikosแปลว่าบ้านและnomosแปล ว่า จารีตประเพณีหรือกฎหมาย ซึ่งรวมกันหมายความว่ากฎเกณฑ์ของครัวเรือน) แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ปัจจุบันแยกออกมาจากขอบเขตที่กว้างของวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองเมื่อปลายศตวรรษที่ 19  การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ถูกประยุกต์ใช้ครอบคลุมทั้งสังคมในด้าน ธุรกิจ, การเงิน และรัฐบาล แม้แต่ทั้งด้านอาชญากรรม, การศึกษา, ครอบครัว, สุขภาพ, กฎหมาย, การเมือง, ศาสนา, สถาบันสังคม, สงคราม และวิทยาศาสตร์
                วิชาเศรษฐศาสตร์จัดเป็นวิชาเชิงปทัสฐาน (เศรษฐศาสตร์ที่ควรจะเป็น) เมื่อเศรษฐศาสตร์ได้ถูกใช้เพื่อเลือกทางเลือกอันหนึ่งอันใด หรือเมื่อมีการตัดสินคุณค่าบางสิ่งบางอย่างแบบอัตวิสัย ในทางตรงข้ามเราจะเรียกเศรษฐศาสตร์ว่าเป็นวิชาเชิงบรรทัดฐาน (เศรษฐศาสตร์ตามที่เป็นจริง) เมื่อเศรษฐศาสตร์นั้นได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำนายและอธิบายถึงผลลัพธ์ ที่ตามมาเมื่อมีการเลือกเกิดขึ้น โดยพิจารณาจากสมมติฐาน และชุดของข้อมูลสังเกตการณ์ ทางเลือกใดก็ตามที่เกิดจากการใช้สมมติฐานสร้างเป็นแบบจำลอง หรือเกิดจากชุดข้อมูลสังเกตการณ์ที่สัมพันธ์กันนั้น ก็เป็นข้อมูลเชิงบรรทัดฐานด้วยเช่นเดียวกันเศรษฐศาสตร์จะให้ความสนใจกับตัวแปรที่สามารถวัดค่าได้เท่านั้น โดยสาขาของวิชาเศรษฐศาสตร์จะถูกจำแนกออกตามเนื้อหาเป็นสองสาขาใหญ่ๆคือ
1.   เศรษฐศาสตร์จุลภาค ซึ่งสนใจพฤติกรรมขององค์ประกอบพื้นฐานในระบบเศรษฐกิจซึ่งรวมถึง ตลาดแต่ละตลาดและตัวแทนทางเศรษฐกิจ(เช่นครัวเรือน หน่วยธุรกิจ ผู้ซื้อ และผู้ขาย)

2.   เศรษฐศาสตร์มหภาค จะสนใจเศรษฐกิจในภาพรวม ตัวอย่างเช่น อุปทานมวลรวมและอุปสงค์มวลรวม การว่างงาน เงินเฟ้อ การเติบโตของเศรษฐกิจ นโยบายการเงินและนโยบายการคลัง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังสามารถจำแนกออกตามการวิเคราะห์ปัญหาได้แก่
1.  เศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ หรือเศรษฐศาสตร์ตามความเป็นจริง (Positive economics)

2.  เศรษฐศาสตร์นโยบาย หรือเศรษฐศาสตร์ตามที่ควรจะเป็น (Normative economics)
                สำหรับประเด็นหลักๆที่เศรษฐศาสตร์ให้ความสนใจจะอยู่ที่การจัดสรรทรัพยากร การผลิต การกระจายสินค้า การค้า และการแข่งขัน โดยหลักการแล้วคำอธิบายทางเศรษฐศาสตร์จะถูกนำไปประยุกต์ใช้เพื่ออธิบายปัญหา ที่เกี่ยวข้องกับทางเลือกภายใต้ข้อจำกัดด้านความขาดแคลนมากขึ้นเรื่อยๆ หรืออาจจะเรียกได้ว่ามีการกำหนดมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ให้กับทางเลือกนั้นๆ นั่นเอง  ในมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยธุรกิจของประเทศอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะนิยมสอนทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่เรียกว่า เศรษฐศาสตร์แบบสำนักคลาสสิกใหม่ (Neo - Classical Economics) ทั้งนี้ เศรษฐศาสตร์กระแสหลักจะวิเคราะห์ถึง "ความเป็นเหตุเป็นผล-ความเป็นปัจเจกชน-ดุลยภาพ" ตรงกันข้ามกับเศรษฐศาสตร์ทางเลือกที่เน้นวิเคราะห์ "สถาบัน-ประวัติศาสตร์-โครงสร้างสังคม" เป็นหลัก
               (ภาพเเสดงผู้ซื้อเเละผู้ขายกำลังต่อรองราคาสินค้าอยู่หน้าตลาด ชิชิคาสเทนเนโกในประเทศกัวเตมาลา)

อ้างอิง 


 


สังคม วัฒนธรรม และภูมิปัญญาไทย


การสร้างสรรค์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย
          วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์ของคนไทย  โดยมีพื้นฐานจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ และอิทธิพลจากภายนอก  วัฒนธรรมนอกบางอย่างที่ไทยรับมานั้นได้ถูกนำมาดัดแปลงให้เข้ากับสภาพสังคม ไทย  จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของไทย  อย่างไรก็ดี  แม้ว่าวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยจะช่วยให้เราเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมและ ภูมิปัญญาไทยและช่วยกันอนุรักษ์และสืบทอดต่อไปในภายหน้า เช่น


          1.  ความหมายของวัฒนธรรมและภูมิปํญญาไทยและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง
                    1.1  ความหมายของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย
                    วัฒนธรรมไทย  หมายถึง  การประพฤติปฏิบัติที่เป็นแบบแผนของสังคม  ซึ่งเกิดจากการสร้างสรรค์ของคนไทยที่คิดขึ้นเพื่อการดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกัน ในสังคม  โดยมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม  และมีรูปแบบเป็นที่ยอมรับกันภายในสังคม  วัฒนธรรมไทยมีการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม  วัฒนธรรม  เศรษฐกิจ  และการเมืองในสังคมไทย
                    ภูมิปัญญาไทย  หมายถึง  ความรู้  ความสามารถ  ทักษะ  ความเชื่อ  และพฤติกรรมของคนไทยที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน  คนกับสิ่งแวดล้อม  และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ  ภูมิปัญญาไทยถือเป็นวิธีการและผลงานที่คนไทยได้ศึกษาเรียนรู้เพื่อความอยู่ รอดของบุคคล  ชุมชน  เพื่อแก้ไขปัญหาในสังคมไทย  เป็นความรู้ที่ผ่านการรวบรวม  ปรับปรุง  และได้ถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง  ภูมิปัญญาไทยจึงเป็นสิงที่มีประโยชน์  มีคุณค่า  มีเอกลักษณ์ของตนเอง  สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของคนไทยและนำมาใช้ในการพัฒนาชีวิตและ แก้ไขปัญหาได้  เช่น  ความรู้เกี่ยวกับพืชพันธุ์ธัญญาหาร  สมุนไพร  ผักพื้นบ้าน  รู้จักประดิษฐ์เครื่องมือทำมาหากิน  และการสร้างที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม  เป็นต้น
                    1.2  ปัจจัยที่ส่งเสริมการสร้างสรรค์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยที่มีผลต่อสังคมไทยปัจจุบัน
                    ปัจจัยที่มีผลต่อการสร้างสรรค์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยที่สำคัญมีดังนี้
                    1)  ปัจจัยทางภูมิศาสตร์  ประเทศไทยมีสภาพภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคและคนในแต่ละ พื้นที่ก็ได้สร้างสรรค์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาให้สอดคล้องกับท้องถิ่นที่ตน อยู่
                   
          2)  ปัจจัยทางสังคม  สามารถแบ่งออกเป็น 2 ด้าน  ดังนี้
                              2.1)  ลักษณะร่วมทางสังคมและวัฒนธรรม  ได้แก่  การที่สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม  ทำให้คนในสังคมมีวิถีชีวิตความเชื่อบางอย่างเหมือนกัน  เช่น  ความเชื่อเรื่องการนับถือผู้อาวุโส  จึงทำให้เกิดพิธีการรดน้ำขอพร  ความเชื่อเรื่องเทวดาอารักษ์  เช่น  แม่พระคงคา  แม่พระธรณี  แม่โพสพ  รุกขเทวดา  ความเชื่อเรื่องผีสางนางไม้  ผีบ้านผีเรือน  ทำให้มีประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับอาชีพและความเชื่อ  เช่น  การทำขวัญข้าว  การเล่นเพลงเรือ  ประเพณีลอยกระทง
นอกจากนี้  คนไทยส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาทำให้มีประมีประเพณีทางศาสนาเหมือนกัน  แต่อาจมีรายละเอียดแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น  เช่น  ประเพณีทำบุญในหลายพื้นที่ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของตน  เช่น  ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งและประเพณีไหลเรือไฟของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ประเพณีชักพระของภาคใต้  เป็นต้น
                              2.2)  ลักษณะแตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรม  สภาพภูมิศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติที่ต่างกัน  รวมถึงความเคยชินและการปฏิบัติที่สืบทอดต่อ ๆ กันมา  มีผลต่อความแตกต่างในด้านการดำรงชีวิต  การสร้างสรรค์วัฒนธรรมและภูมิปัญญา  เช่น  ภาคกลางและภาคใต้ปลูกข้าวเจ้ามาก  ทำให้คนทั้งสองภาคนิยมรับประทานข้าวเจ้า  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือปลูกข้าวเหนียวมาก  คนทั้งสองภาคนี้จึงนิยมรับประทานข้าวเหนียว  และคิดสร้างสรรค์ภาชนะใส่ข้าวเหนียวจากวัสดุธรรมชาติ  เรียกว่า  "กระติบ"  ซึ่งช่วยเก็บกักความร้อนและทำให้ข้าวเหนียวนุ่มอยู่ได้นาน  หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีหนองบึงมาก  แต่แหล่งน้ำมักแห้งขอดในฤดูแล้ง  ชาวบ้านจึงเรียนรู้ที่จะเก็บสะสมอาหารไว้กินตลอดทั้งปี  โดยนำปลานานาชนิดมาทำเป็นปลาร้า  ส่วนภาคใต้มีอาหารทะเลมากจึงถนอมอาหารด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น  ตากแห้ง  ปลาแดดเดียว  ปลาเค็ม  หรือนำเคยซึ่งเป็นสัตว์ทะเลชนิดหนึ่งมาทำกะปิ
                              นอกจากนี้  การปลูกบ้านเรือนของผู้คนในแต่ละภาคก็มีความแตกต่างกันตามทรัพยากรธรรมชาติ  เช่น  ภาคเหนือมีไม้มาก  บ้านเรือนจึงปลูกสร้างด้วยไม้  หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือใช้ไม้ไผ่เป็นส่วนสำคัญในการปลูกบ้าน  ดังนั้น  จะเห็นได้ว่าความแตกต่างกันทางภูมิศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ  ทำให้แต่ละพื้นที่มีการดำรงชีวิตต่างกัน
วัฒนธรรมและประเพณีไทย
                การที่มนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นสังคมขึ้นมาย่อมต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของกลุ่มมีระเบียบแบบแผนที่ควบคุมพฤติกรรมของบุคคลในกลุ่มให้อยู่ในขอบเขตที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสงบสุข สิ่งที่เป็นเครื่องมือในการควบคุมพฤติกรรมของกลุ่มคนนี้เราเรียกว่า "วัฒนธรรม" ดังนั้น วัฒนธรรมจึงเปรียบเสมือนอาภรณ์ห่อหุ้มร่างกายตกแต่งคนให้น่าดูชม วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ต้องควบคู่กับคนเสมอไป  "วัฒนธรรมมีความหมายครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง ที่แสดงออกถึงวิถีชีวิตของมนุษย์ในสังคมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือสังคมใดสังคมหนึ่ง มนุษย์ได้คิดสร้างระเบียบกฎเกณฑ์ใช้ในการปฏิบัติ การจัดระเบียบตลอดจนระบบความเชื่อ ค่านิยม ความรู้ และเทคโนโลยีต่าง ๆ ในการควบคุมและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ"  "วัฒนธรรมคือความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ หรือลักษณะประจำชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในสังคม ซึ่งไม่เพียงแต่จะหมายถึงความสำเร็จในด้านศิลปกรรมหรือมารยาททางสังคมเท่านั้น  กล่าวคือ ชนทุก     กลุ่มต้องมีวัฒนธรรม ดังนั้น เมื่อมีความแตกต่างระหว่างชนแต่ละกลุ่ม ก็ย่อมมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมนั่นเอง เช่น ชาวนาจีน กับชาวนาในสหรัฐอเมริกา ย่อมมีความแตกต่างกัน  "วัฒนธรรมคือสิ่งที่มนุษย์เปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงหรือผลิตสร้างขึ้น เพื่อความเจริญงอกงามในวิถีชีวิตและส่วนรวม วัฒนธรรมคือวิถีแห่งชีวิตของมนุษย์ในส่วนร่วมที่ถ่ายทอดกันได้ เรียนกันได้ เอาอย่างกันได้ วัฒนธรรมจึงเป็นผลผลิตของส่วนร่วมที่มนุษย์ได้เรียนรู้มาจากคนสมัยก่อน สืบต่อกันมาเป็นประเพณี วัฒนธรรมจึงเป็นทั้งความคิดเห็นหรือการกระทำของมนุษย์ในส่วนร่วมที่เป็นลักษณะเดียวกัน และสำแดงให้ปรากฏเป็นภาษา ความเชื่อ ระเบียบประเพณี  พระราชบัญญัติ วัฒนธรรมแห่งชาติพุทธศักราช 2485 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2486 ได้ให้ความหมายของวัฒนธรรมไว้ดังนี้
                 วัฒนธรรม คือ ลักษณะที่แสดงถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติ และศีลธรรมอันดีของประชาชน วัฒนธรรมจึงเป็นลักษณะพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ ทั้งบุคคลและสังคมที่ได้วิวัฒนาการต่อเนื่องมาอย่างมีแบบแผน แต่อย่างไรก็ดีมนุษย์นั้นไม่ได้เกาะกลุ่มอยู่เฉพาะในสังคมของตนเอง ได้มีความสัมพันธ์ติดต่อกับสังคมต่างๆ ซึ่งอาจอยู่ใกล้ชิดมีพรมแดนติดต่อกัน หรือยู่ปะปนในสถานที่เดียวกันหรือ การที่ชนชาติหนึ่งตกอยู่ใต้การปกครองของชนชาติหนึ่ง มนุษย์เป็นผู้รู้จักเปลี่ยนแปลงปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ จึงนำเอาวัฒนธรรมที่เห็นจากได้สัมพันธ์ติดต่อมาใช้โดยอาจรับมาเพิ่มเติมเป็นวัฒนธรรมของตนเองโดยตรงหรือนำเอามาดัดแปลงแก้ไขให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิม
                ในปัจจุบันนี้จึงไม่มีประเทศชาติใดที่มีวัฒนธรรมบริสุทธิ์อย่างแท้จริง แต่จะมีวัฒนธรรมที่มีพื้นฐานมาจากความรู้ ประสบการณ์ที่สังคมตกทอดมาโดยเฉพาะของสังคมนั้น และจากวัฒนธรรมแหล่งอื่นที่เข้ามาผสมปะปนอยู่ และวัฒนธรรมไทยก็มีแนวทางเช่นนี้ 
ความสำคัญของวัฒนธรรม
         วัฒนธรรมเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งในความเป็นชาติ ชาติใดที่ไร้เสียซึ่งวัฒนธรรมอันเป็นของตนเองแล้ว ชาตินั้นจะคงความเป็นชาติอยู่ไม่ได้ ชาติที่ไร้วัฒนธรรม แม้จะเป็นผู้พิชิตในการสงคราม แต่ในที่สุดก็จะเป็นผู้ถูกพิชิตในด้านวัฒนธรรม ซึ่งนับว่าเป็นการถูกพิชิตอย่างราบคาบและสิ้นเชิง ทั้งนี้เพราะผู้ที่ถูกพิชิตในทางวัฒนธรรมนั้นจะไม่รู้ตัวเลยว่าตนได้ถูกพิชิต เช่น พวกตาดที่พิชิตจีนได้ และตั้งราชวงศ์หงวนขึ้นปกครองจีน แต่ในที่สุดถูกชาวจีนซึ่งมีวัฒนธรรมสูงกว่ากลืนจนเป็นชาวจีนไปหมดสิ้น ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่า วัฒนธรรมมีความสำคัญดังนี้
  • วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ชี้แสดงให้เห็นความแตกต่างของบุคคล กลุ่มคน หรือชุมชน
  • เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าตนมีความแตกต่างจากสัตว์
  • ช่วยให้เราเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ที่เรามองเห็น การแปลความหมายของสิ่งที่เรามองเห็นนั้นขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของกลุ่มชน ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้และถ่ายทอดวัฒนธรรม เช่น ชาวเกาะซามัวมองเห็นดวงจันทร์ว่ามีหญิงกำลังทอผ้า ชาวออสเตรเลียเห็นเป็นตาแมวใหญ่กำลังมองหาเหยื่อ ชาวไทยมองเห็นเหมือนรูปกระต่าย
  • วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดปัจจัย 4 เช่น เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย การรักษาโรค
  • วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดการแสดงความรู้สึกทางอารมณ์ และการควบคุมอารมณ์ เช่น ผู้ชายไทยจะไม่ปล่อยให้น้ำตาไหลต่อหน้าสาธารณะชนเมื่อเสียใจ
  • เป็นตัวกำหนดการกระทำบางอย่าง ในชุมชนว่าเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งการกระทำบางอย่างในสังคมหนึ่งเป็นที่ยอมรับว่าเหมาะสมแต่ไม่เป็นที่ยอมรับในอีกสังคมหนึ่ง
                จะเห็นได้ว่าผู้สร้างวัฒนธรรมคือมนุษย์ และสังคมเกิดขึ้นก็เพราะ มนุษย์ วัฒนธรรมกับสังคมจึงเป็นสิ่งคู่กัน โดยแต่ละสังคมย่อมมีวัฒนธรรมและหากสังคมมีขนาดใหญ่หรือมีความซับซ้อน มากเพียงใด ความหลากหลายทางวัฒนธรรมมักจะมีมากขึ้นเพียงใดนั้นวัฒนธรรมต่าง ๆ ของแต่ละสังคมอาจเหมือนหรือต่างกันสืบเนื่องมาจากความแตกต่างทางด้านความเชื่อ เชื้อชาติ ศาสนาและถิ่นที่อยู่ เป็นต้น
  ลักษณะของวัฒนธรรม
เพื่อที่จะให้เข้าใจถึงความหมายของคำว่า "วัฒนธรรม" ได้อย่างลึกซึ้ง จึงขออธิบายถึงลักษณะของวัฒนธรรม ซึ่งอาจแยกอธิบายได้ดังต่อไปนี้
  • วัฒนธรรมเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ ตรงที่มีการรู้จักคิด มีการเรียนรู้ จัดระเบียบชีวิตให้เจริญ อยู่ดีกินดี มีความสุขสะดวกสบาย รู้จักแก้ไขปัญหา ซึ่งแตกต่างไปจากสัตว์ที่เกิดการเรียนรู้โดยอาศัยความจำเท่านั้น
  • วัฒนธรรมเป็นมรดกของสังคม   เนื่องจากมีการถ่ายทอดการเรียนรู้ จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนรุ่นหนึ่ง ทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อม โดยไม่ขาดช่วงระยะเวลา และ มนุษย์ใช้ภาษาในการถ่ายทอดวัฒนธรรม ภาษาจึงเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้ถ่ายทอดวัฒนธรรมนั่นเอง
  • วัฒนธรรมเป็นวิถีชีวิต  หรือเป็นแบแผนของการดำเนินชีวิตของ มนุษย์   มนุษย์เกิดในสังคมใดก็จะเรียนรู้และซึมซับในวัฒนธรรมของสังคมที่ตนเองอาศัยอยู่ ดังนั้น วัฒนธรรมในแต่ละสังคมจึงแตกต่างกัน
  • วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ไม่คงที่ มนุษย์มีการคิดค้นประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ และ ปรับปรุงของเดิมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อความเหมาะสม และความอยู่ รอดของสังคม เช่น สังคมไทยสมัยก่อนผู้หญิงจะทำงานบ้าน ผู้ชายทำงานนอกบ้าน เพื่อหาเลี้ยง ครอบครัว  แต่ปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้หญิงต้องออกไปทำงานนอกบ้าน เพื่อหา รายได้มาจุนเจือครอบครัว บทบาทของผู้หญิงในสังคมไทยจึงเปลี่ยนแปลงไป

หน้าที่ของวัฒนธรรม
  • วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดรูปแบบของสถาบัน ซึ่งมีลักษณะแตกต่าง กันไปในแต่ละสังคม เช่น วัฒนธรรมอิสลามอนุญาตให้ชาย (ที่มีความสามารถเลี้ยงดูและ ให้ความ ยุติธรรมแก่ภรรยา) มีภรรยาได้มากกว่า 1 คน โดยไม่เกิด 4 คน แต่ห้ามสมสู่ ระหว่าง เพศเดียว กัน อย่างเด็ดขาด ในขณะที่ศาสนาอื่นอนุญาตให้ชายมีภรรยาได้เพียง 1 คน แต่ไม่มีบัญญัติห้าม ความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน ฉะนั้นรูปแบบของสถาบันครอบครัวจึงอาจแตกต่างกันไป
  • วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่กำหนดพฤติกรรมของมนุษย์  พฤติกรรมของคน จะเป็นเช่นไรก็ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของกลุ่มสังคมนั้น ๆ เช่น วัฒนธรรมในการพบปะทักทายของ ไทย ใช้ในการสวัสดีของชาวตะวันตกทั่วไปใช้ในการสัมผัสมือ ของชาวทิเบตใช้การแลบลิ้น ของชาว มุสลิมใช้การกล่าวสลาม เป็นต้น
  • วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ควบคุมสังคม สร้างความเป็นระเบียบ เรียบร้อย ให้แก่สังคม เพราะในวัฒนธรรมจะมีทั้งความศรัทธา  ความเชื่อ ค่านิยม บรรทัดฐาน เป็นต้น ตลอดจน ผลตอบแทนในการปฏิบัติและบทลงโทษเมื่อฝ่าฝืน
             ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า ถ้าหากเข้าใจในเรื่องวัฒนธรรมดีแล้ว จะทำให้ สามารถเข้าใจพฤติกรรมต่าง ๆ ของคนในแต่ละสังคมได้อย่างถูกต้อง
ที่มาของวัฒนธรรมไทย
วัฒนธรรมไทยมีที่มาจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
  • สิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ เนื่องจากสังคมไทยมีลักษณะทางด้านภูมิศาสตร์เป็นที่ราบลุ่มและอุดมสมบูรณ์ด้วยแม่น้ำลำคลอง คนไทยได้ใช้น้ำในแม่น้ำ ลำคลอง ในการเกษตรกรรมและการอาบ กิน เพราะฉะนั้นเมื่อถึงเวลาหน้าน้ำ คือ เพ็ญเดือน 11 และเพ็ญ เดือน 12 ซึ่งอยู่ในห้วงเวลาปลายเดือนตุลาคมและปลายเดือนพฤศจิกายน อันเป็นระยะเวลา ที่ น้ำไหลหลากมาจากทางภาคเหนือของประเทศ คนไทยจึงจัดทำกระทงพร้อม ด้วยธูปเทียนไปลอย ในแม่น้ำลำคลอง เพื่อเป็นการขอขมาลาโทษแม่คงคา และขอพรจากแม่คงคา เพราะได้อาศัยน้ำกิน น้ำใช้ ทำให้เกิด "ประเพณีลอยกระทง"   นอกจากนั้นยังมีประเพณีอื่น ๆ  อีกในส่วนที่เกี่ยวกับ แม่น้ำลำคลอง  เช่น     "ประเพณีแข่งเรือ"
  • ระบบการเกษตรกรรม สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม (agrarian society) กล่าวคือ ประชากรร้อยละ 80 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า คนไทยส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตผูกพันกับระบบการเกษตรกรรม และระบบการเกษตรกรรมนี้เอง ได้เป็น ที่มาของวัฒนธรรมไทยหลายประการ เช่น ประเพณีขอฝน ประเพณีลงแขก และการละเล่น เต้นกำรำเคียว เป็นต้น
  • ค่านิยม (Values) กล่าวได้ว่า "ค่านิยม" มีความเกี่ยวพันกับ วัฒนธรรมอย่างใกล้ชิด และ "ค่านิยม" บางอย่างได้กลายมาเป็น "แกน" ของวัฒนธรรมไทยกล่าวคือ วิถีชีวิตของคนไทยโดยส่วนรวมมีเอกลักษณ์ซึ่งแสดงออกถึงอิสรภาพและเสรีภาพ
  • การเผยแพร่ทางวัฒนธรรม (Cultural diffusion) วัฒนธรรมทาง หนึ่ง ย่อม แตกต่างไปจากวัฒนธรรมทางสังคมอื่น ๆ ทั้งนี้เพราะวัฒนธรรมมิได้เกิดขึ้นมาใน ภาชนะ ที่ถูกผนึกตราบเท่าที่มนุษย์ เช่น นักท่องเที่ยว พ่อค้า ทหาร หมอสอนศาสนา และผู้อพยพยังคง ย้ายถิ่นที่อยู่จากแห่งหนึ่งไปยังแห่งอื่น ๆ เขาเหล่านั้นมักนำวัฒนธรรมของพวกเขาติดตัว ไปด้วย เสมอ ซึ่งถือได้ว่า เป็นการเผยแพร่ทางวัฒนธรรม เป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็วและกว้างขวาง ประจักษ์ พยานในเรื่องนี้จะเห็นได้ว่าน้ำอัดลมชื่อต่าง ๆ
ความหมายของภูมิปัญญาไทย
·         ภูมิปัญญาไทย หมายถึง ความรู้ ทักษะ ความเชื่อ และพฤติกรรมของคนไทย โดยแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติกับสิ่งแวดล้อมและคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ถือเป็นกิจกรรมทุกอย่างในวิถีชีวิตของคนในการแก้ปัญหา การจัดการ การปรับตัว และการเรียนรู้เพื่อความอยู่รอดของบุคคล ชุมชนและสังคม ตลอดจนเป็นพื้นฐานความรู้ในเรื่องต่างๆ ที่มีลักษณะเฉพาะหรือเอกลักษณ์ในตัวเองด้วยเหตุนี้ ถูมิปัญญาไทยจึงเป็นผลงานที่คนไทยได้ทำการศึกษาค้นคว้า รวบรวมและจัดเป็นความรู้ มีการถ่ายทอดและปรับปรุงจากคนรุ่นหนึ่งมาสู่คนคนอีกรุ่นหนึ่ง จนเกิดเป็นผลผลิตที่ดี งดงาม มีคุณค่าเเละประโยชน์ รวมทั้งสามารถนำมาแก้ไขปัญหาและพัฒนาชีวิตได้ เช่นชาวนารู้จักขุดบ่อน้ำ หรือทำเหมืองฝายสำหรับเก็บน้ำและแจกจ่ายไปสู่ไร่นา หรือชาวบ้านมีความรู้เกี่ยวกับพืชพันธุ์ธัญญาหาร ผักพื้นบ้าน เครื่องเทศ และสมุนไพร โดยสามารถแยกแยะสรรพคุณในการรักษาโรคด้วยเหตูนี้ เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมกับภูมิปัญญาไทย ก็จะเห็นได้ว่า ภูมิปัญญาไทยได้รับการสั่งสมสืบต่อกันมานั่นถือเป็นวัฒนธรรมไทยอย่างหนึ่ง
ที่มา ของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย
·         วัฒนธรรมเกิดขึ้นมาได้ด้วยอาศัยการสร้างสรรค์ของมนุษย์ ดังนั้น วัฒนธรรมจึงเกิดมาจากคนไทย โดยคนไทยมีถิ่นฐานในดินแดนประเทศไทยมายาวนานได้ปฏิสัมพันธ์ต่อกันกับเชื้อชาติอื่นๆที่อยู่ในบริเวณนี้ ซึ่งต่างก็รู้จักคิดและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม มีการไปมาหาสู่ระหว่างชนชาติทั้งในเรื่องการซื้อขายกัน การทำสงคราม การอพยพโยกย้ายที่ทำมาหากิน ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ได้เกิดสิ่งที่เรียกว่า วัฒนธรรม ขึ้นหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ คนไทยไม่ว่าจะย้ายไปอยู่แห่งใด ก็ได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆเพื่อให้ตนเองดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคม สิ่งเหล่านี้จึงเป็นที่มาของวัฒนธรรมนั่นเอง สำหรับภูมิปัญญาไทย ก็มีความคล้ายกับวัฒนธรรมไทย ภูมิปัญญาไทยมีที่มาจากคนและสิ่งที่คนไทยประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาหรือสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อความสะดวกในการดำรงชีวิต รวมทั้งอาจได้จากบรรพบุรุษ ผู้ที่มีความรู้ด้านภูมิปัญญาไทย หรือได้มาจากชาวต่างชาติ แล้วนำมาผสมผสานกับวัฒนธรรมทำเดิมของไทยจนเกิดเป็นภูิมิปัญญาไทย

อ้างอิงและได้รับอนุญาตจาก :
ศิริพร ดาบเพชร  คมคาย มากบัว และประจักษ์ แป๊ะสกุล.ประวัติศาสตร์ไทย ม.4-ม.6. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.