วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ศาสนากับสังคมไทย


ความสำคัญของพระพุทธศาสนาต่อสังคมไทย
            พระพุทธศาสนาอยู่คู่กับสังคมไทยมานานวิถีชีวิตของชาวไทยส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาชาวไทยร้อยละ 95 นับถือพระพุทธศาสนาได้ นำหลักการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนามาเป็นแนวทางแห่งการดำเนินชีวิตจนกลายเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมและเอกลักษณ์มรดกของชาติไทยตราบเท่าทุกวันนี้ ในชั้นนี้ นักเรียนจะได้ศึกษาความสำคัญของพระพุทธศาสนาต่อสังคมไทยเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้
1.  พระพุทธศาสนาเป็นรากฐานของวัฒนธรรม
            สังคมไทยมีหลักปฏิบัติและวิถีชีวิตอยู่บนหลักของพระพุทธศาสนา  ซึ่งได้ยึดถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน  หลักธรรมคำสอนและความเชื่อตลอดจนแนวปฏิบัติตนตามหลักศาสนาได้ซึมซาบอยู่กับวิถีชีวิตของคนไทยทุกคน  จึงกล่าวได้ว่าสังคมไทยทุกระดับได้รับเอาความเชื่อทางศาสนามาเป็นแบบอย่างแห่งการดำเนินชีวิตจนก่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมขึ้นมา  เพื่อความเข้าใจจะได้นำเสนอเกี่ยวกับเรื่องความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวัฒนธรรม  ดังนี้  
       วัฒนธรรม  หมายถึงสภาพและลักษณะที่แสดงถึงความเจริญงอกงามในด้านวิถีชีวิต ความคิด การปรับตัว  ความเป็นระเบียบเรียบร้อย  เป็นสิ่งที่แสดงออกให้เห็นถึงวิธีการดำเนินชีวิตของคนในสังคม  ซึ่งได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมา  ซึ่งมี  2  ประเภท ได้แก่ วัฒนธรรมด้านวัตถุและวัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุ 
วัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนา   
วัฒนธรรมไทยที่มีบ่อเกิดมาจากพระพุทธศาสนามี 4  ด้านใหญ่ๆ  ได้แก่  ด้านภาษา ด้านศิลปกรรม  ด้านประเพณี  และด้านจิตใจ
1.  วัฒนธรรมไทยที่มีบ่อเกิดมาจากพระพุทธศาสนา  ด้านภาษาและวรรณกรรม
             ภาษาที่ใช้กันในปัจจุบันในประเทศไทย  มีแหล่งกำเนิดมาจากพระพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่  ถ้าเป็นพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทได้นำภาษาบาลีเข้ามา  ถ้าเป็นฝ่ายมหายาน  ได้นำภาษาสันสกฤตเข้ามาใช้  เช่น  คำที่ใช้เรียกชื่อต่าง ๆ  ชื่อคน  ชื่อเมือง  ชื่อบ้าน  และชื่อสถานที่ราชการ  เป็นต้น
            วรรณกรรมของไทยที่มาจากพระพุทธศาสนา  ได้แก่  ไตรภูมิพระร่วง ปฐมสมโพธิกถา มหาชาติคำหลวง  เป็นต้น
2.  วัฒนธรรมไทยที่มีบ่อเกิดมาจากพระพุทธศาสนา  ด้านศิลปกรรม
            ศิลปกรรมคืองานสร้างสรรค์ที่มนุษย์ได้จัดสร้างหรือประดิษฐ์ขึ้น  ที่มีอิทธิพลมาจากพระพุทธศาสนา ได้แก่งานจิตรกรรม  ได้แก่ การเขียนภาพ ลวดลายไทย งานปฏิมากรรม ได้แก่ การปั้น การหล่อ และการสลักรูป งานวรรณกรรม  ได้แก่ การประพันธ์ร้อยแก้ว  ร้อยกรอง  สถาปัตยกรรม  การออกแบบ  การก่อสร้าง  และนาฏศิลป์ ดุริยางศิลป์  ได้แก่  การขับร้อง  ฟ้อนรำ เป็นต้น ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น
3.  วัฒนธรรมไทยที่มีบ่อเกิดมาจากพระพุทธศาสนา  ด้านประเพณี
            ประเพณี  คือ  แบบแผนที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน  ประเพณีสำคัญ ๆ  ของไทยที่สืบทอดมาจากพระพุทธศาสนา  เช่น วันสำคัญทางศาสนา  ได้แก่  วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา  วันอาสาฬหบูชา     วันเข้าพรรษา  วันออกพรรษา ประเพณีอื่นๆ  เช่น การบวช  นาค การทำบุญเนื่องในวันต่างๆ  เช่นครบรอบวันเกิด  ครบรอบวันแต่งงาน  การทำบุญอุทิศแก่ผู้ตายและประเพณีทำบุญต่างๆ  เช่น การตักบาตร การถวายสังฆทาน  การถวายสลากภัต  การทอดผ้าป่า  การทอดกฐิน  การถวายผ้าอาบน้ำฝน  เป็นต้น
4.  วัฒนธรรมไทยที่มีบ่อเกิดมาจากพระพุทธศาสนา  ด้านจิตใจ
            คนไทยมีลักษณะนิสัยเฉพาะตัว  ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธศาสนา เช่น ความโอบอ้อมอารี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเมตตา ความเคารพอ่อนน้อม  ความอดทน  รักอิสระ  รักสันโดษ  ชอบช่วยเหลือตนเอง ไม่มีการบังคับข่มเหงซึ่งกันและกัน ยิ้มง่าย  ใจดี  เป็นต้น  จนได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของคนไทย
พระพุทธศาสนาถือว่าเป็นบ่อเกิดวัฒนธรรมทั้งด้านวัตถุและไม่ใช่วัตถุ   เห็นได้ดังนี้
1.  วัฒนธรรมด้านวัตถุทางพระพุทธศาสนา
            ได้แก่  ศิลปกรรมสาขาต่างๆ  ที่ถูกสร้างขึ้นเป็นเอกลักษณ์ของคนไทย  ที่เป็นผลงานสร้างสรรค์ของมนุษย์ด้วยสติปัญญาซึ่งถ่ายทอดให้ทราบถึงความรู้สึกนึกคิด  ความเชื่อ  ความศรัทธา และจินตนาการที่เป็นรูปธรรมอันละเอียด  มี 4  ประเภทด้วยกัน  ได้แก่
1. สถาปัตยกรรม  ในรูปของวัดวาอาราม และปูชนียสถาน
2. ประติมากรรม ในรูปของการปั้น การหล่อ การแกะสลักพระพุทธรูป
3. จิตรกรรม  ในรูปของการเขียนภาพ  เช่น ภาพฝาผนังพระอุโบสถ  ฯลฯ
4. วรรณกรรม ในรูปของงานประพันธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง
2.  วัฒนธรรมด้านไม่ใช่วัตถุทางพระพุทธศาสนา
            ได้แก่ การปฏิบัติหรือแนวความคิด  ความเชื่อ  อุดมการณ์  ศีลธรรมจรรยา  ขนบธรรมเนียมประเพณี  ปรัชญา  กฎหมาย  ที่รับการปฏิบัติสืบทอดกันมา  มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงให้เข้ากับวิถีการดำเนินชีวิตและยุสมัย  ที่ได้รับมาจากพระพุทธศาสนา  ได้แก่
            1.  ภาษาและวรรณคดีต่างๆ  ภาษาในประเทศไทย  นิยม นำคำบาลีสันสกฤตมาใช้ในการตั้งชื่อคน สถานที่ เพื่อให้เกิดความหมายและเป็นสิริมงคลตามความเชื่อในคติของพระพุทธศาสนา ส่วนวรรณคดีต่างๆ  ของไทยส่วนมากเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ คติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา  สวรรค์  นรก  เป็นต้น
            2.  ประเพณีพิธีกรรมต่างๆ  คือแบบแผนที่ปฏิบัติสิบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน เช่น การเกิด การบวชนาค  การแต่งงาน  การตาย หรือวันสำคัญต่างๆ  เช่น  วันสารท  วันตรุษ  วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา  วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา  วันออกพรรษา  เป็นต้น
            3.  ลักษณะนิสัยของคนไทย ที่รับการถ่ายทอดมาจากพระพุทธศาสนา เช่น เป็นผู้มีจิตใจกว้างขวาง  ร่าเริงแจ่มใส เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และมีน้ำใจไมตรี เสียสละ  เป็นต้น
            4.   กฎระเบียบของสังคม  เช่น กฎหมายเรื่องการผิดประเวณี  การลักขโมย เป็นต้น ล้วนเกิดมาจากพระพุทธศาสนา 
3.  พระพุทธศาสนาเป็นเอกลักษณ์และมรดกของชาติ
            ประเทศไทย  ได้รับเอาวัฒนธรรมมาจากพระพุทธศาสนามาประพฤติปฏิบัติเป็นวิถีชีวิต จนกลายมาเป็นรูปแบบเอกลักษณ์เฉพาะของคนไทย  พระพุทธศาสนาจึงถือว่าเป็นเอกลักษณ์และมรดกของชนชาติไทย ซึ่งจะเห็นได้จากการที่มีวัดกระจายอยู่ทั่วไปในทุกหมู่บ้าน  ทุกชุมนุมของสังคมไทย  วัดจัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนไทย ทั้งมีบทบาทต่อสังคมในฐานะเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทำบุญตามประเพณี  จัดกิจกรรมต่างๆ  ของชุมชน เป็นที่พบปะสร้างสรรค์เนื่องในโอกาสต่าง ๆ  ลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ เห็นได้ชัด  ดังนี้
1.     ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา
2.     ประมุขของชาติไทย ทรงเป็นพุทธมามกะทุกพระองค์
3.     พระราชพิธีและรัฐพิธีต่าง ๆ มีพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาร่วมอยู่ด้วย
4.     กิจกรรมทางสังคมทั้งหมดของประชาชนทั่วไป จะมีพิธีกรรมทางศาสนาแทรกอยู่ด้วยเสมอ  เช่น การเกิด การขึ้นบ้านใหม่ การสมรส  และงานฉลองต่างๆ ตลอดจนงานศพ  ตั้งแต่เกิดเกิดจนตายก็ว่าได้
5.     สิ่งก่อสร้างต่างๆ ในประเทศไทย  ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก ได้แก่  โบสถ์ เจดีย์ วิหาร  หรือศาลาการเปรียญ  เป็นต้น
             6.     รูปแบบการปฏิบัติของพระสงฆ์และจริยาวัตรต่าง ๆ  เช่นการรักษาศีล การบิณฑบาต  การนุ่งห่ม ซึ่งมีปรากฏให้เห็นเฉพาะสังคมไทย
               อ้างอิง http://www.xn--22ce2c8eob1i.com


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น